พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว (Phuket Thai-Hua Museum)

สวัสดีค่า.. ^^ วันนี้พวกเราจะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวที่นี่กันค่ะ เราเชื่อว่าหลายๆ คนคงยังไม่เคยมีโอกาสได้แวะมา ที่นี่เป็นหนึ่งในหลายๆที่ ที่ถ้าใครมาเที่ยวภูเก็ตหรือคนที่อยากรู้เรื่องราวของที่นี่ควรจะมาเป็นที่สุดค่ะ
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวตั้งอยู่บนถนนกระบี่ค่ะ ง่ายๆ เลยถ้าใครมาเดินเที่ยวถนนถลางแล้วเดินมาจนสุดทางตรงแยกไฟแดง ให้เดินตรงต่อมาอีกนิดประมาณ 2-300 เมตรมองทางขวาก็จะเจอเลยค่ะ ที่นี่เป็นอาคารโรงเรียนจีนที่สร้างขึ้นในปี 2477 นับเป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาจีนที่เก่าแก่ที่สุด รวมเวลาแล้วก็นับเป็นเวลา 78 ปีพอดีค่ะ วันเวลาเปิดปิดตามในภาพเลยค่ะ
โดยที่นี่จะมีนิทรรศการที่จัดไว้ให้ชม 13 ห้องค่ะ แต่ละห้องจะมีวิถีชีวิตชาวจีนภูเก็ตเริ่มจากถิ่นกำเนิด การเดินทางมาคาบสมุทรมลายู ภาคใต้ของไทยรวมถึงความสัมพันธ์แบบจีนและแบบอย่างของผู้ประสบความสำเร็จ อาชีพ ภูมิปัญญา พิธีกรรม อาหาร การแต่งกายและอย่างอื่นอีกมากมายนับไม่ถ้วนเลยค่ะ
เข้ามาภายในรั้วแล้วก็จะมีช่องจำหน่ายตั๋วอยู่ด้านซ้ายค่ะ ค่าเข้าชมก็จะอยู่ที่ 50 บาทต่อท่าน ส่วนถ้ามีกล้องมาถ่ายภาพภายในจะคิดเป็น 100 บาท ต่างชาติคิดราคา 200 บาทค่ะ ซึ่งตรงนี้จะมีที่รับฝากสัมภาระ พร้อมมีที่จอดรถไว้ให้ด้านหน้าพร้อมเลยค่ะ
ได้รับตั๋วมาแล้วก็จะมีแผนที่พร้อมคำอธิบายมาให้แบบนี้ค่ะ ค่อนข้างละเอียดกันเลยทีเดียวเชียว @_@
ก้าวแรกเข้ามาก็จะเจอกับห้องโถงใหญ่เปิดโล่งไม่มีแอร์ค่ะ ระเบียบของที่นี่จะไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้ามา งดสูบบุหรี่ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามา และต้องช่วยกันรักษาพิพิธภัณฑ์ค่ะ
ความเป็นมาของที่นี่ตามนี้เลยค่ะ
เรามาเริ่มที่ห้องนี้ค่ะ ซึ่งเป็นห้องอยู่ด้านบนที่มีการจัดแสดงวิดีทัศน์ “เ้ส้นทางมังกร” สั้นๆ ไม่เกิน 5 นาทีมีทั้งภาษาไทยและจีนพร้อม subtitle ภาษาอังกฤษเข้าใจง่ายค่ะ
โดยจะเล่าถึงการเดินทางของชาวจีนมาภูเก็ตในยุคต่างๆในอดีตค่ะ ห้องนี้แอร์เย็นมาก
มีที่ให้นั่งชม (ไม่เกิน 3 คน) ตามในภาพมุมขวาล่างเป็นลักษณะคล้ายหัวเรือค่ะ
พร้อมทั้งแผนที่บ้านเกิด เมืองต่างๆของชาวจีนในภูเก็ตจาก 3 มณฑล คือ ฮกเกี้ยน กวางตุ้งและไหหลำ และมีชื่อ นามสกุลบอกไว้ว่ามาจากเมืองไหนค่ะ
ใกล้ๆ กันจะมี “หนังสือเข้าเมือง” ชั่วคราวของชาวจีนที่เข้ามาภูเก็ตไว้ให้ดูแบบนี้ค่ะ
ห้องถัดไปมีการจัดแสดงการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของชาวจีนโพ้นทะเล พัฒนาการจนเกิดองค์กรต่างๆในภูเก็ตจวบจนปัจจุบันค่ะ
นี่คือไฮไลท์ของห้องนี้ค่ะ ภาพเขียนจำลองจิตรกรรมเก่าแก่พร้อมเกร็ดประวัติของคหบดีนายเหมืองและผู้นำชาวจีนในภูเก็ตที่มีชื่อเสียงมากๆ ในยุคหนึ่งค่ะ
อีกมุมที่มีวิดีทัศน์แสดง “สัมพันธ์ภูเก็ต-จีน” ให้เลือกชมกันทั้งเสียงไทยหรือจีนค่ะ
ความรักหมู่คณะและการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้ยากไร้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวจีนค่ะ
ไปดูอีกห้องกันนะคะ
ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีข้อมูลเยอะจริงๆ ค่ะ
มูลนิธิกุศลสงเคราะห์จังหวัดภูเก็ต (ล้อกเซี่ยนก๊ก) ผู้อุปถัมภ์โรงเรียนค่ะ
ประวัติอาคารและโรงเรียนใน 4 ยุค ตั้งแต่ก่อนสร้างอาคาร สร้างเสร็จ ฟื้นฟู และ ปัจจุบันค่ะ
ส่วนนี้เป็นที่จัดแสดงโฉนดที่ดินของมูลนิธิค่ะ
ประวัติการสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กยุคแรกของภูเก็ต รวมถึงวัตถุเก่านานาชาติจากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในบริเวณ ที่สะท้อนถึงความเป็นเมืองนานาชาติของเกาะภูเก็ตมาแต่ครั้งอดีตค่ะ
ส่วนห้องนี้เป็นการจัดแสดงถึงวิถีชีวิตผ่านอาชีพ ความเป็นอยู่ วรรณกรรมและภูมิปัญญาของชาวภูเก็ตในอดีต
โดยมีจุดเด่นคือภาพจิตรกรรม พร้อมทั้งคำบรรยายประกอบแต่ละอาชีพที่ปรากฏในตำแหน่งภาพนั้นๆ  ค่ะ
จุดเด่นอีกอย่างคือการจัดแสดง 3 ภูมิปัญญาจีนภูเก็ต ได้แก่ “ก่าเหล้” หุ่นชักโบราณ ประติมากรเอกช่างแกะสลักพระจีน และ “อาลักษณ์อ๊าม” ช่างเขียนอักษรประจำศาลเจ้า
มีบอร์ดแสดงภาพถ่ายและคำบรรยาย 20 อาชีพชาวไทยจีนในภูเก็ตรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยนั้น
โดยมีคำกล่าวที่ว่า “คนจีน คือสินค้าที่มีมูลค่ามากที่สุดจากจีนมาสยาม” ~ โดยจอห์น ครอฟอร์ด ทูตอังกฤษกล่าวไว้เมื่อปี 2373
มุมสูบฝิ่นที่สื่อถึงเสี้ยวชีวิตของกลุ่มคนในยุคเหมืองแร่และสาเหตุที่ฝิ่นเข้ามาแพร่หลายในภูมิภาคนี้
“จดหมายเหตุเมืองถลาง” ในสมัยท้าเทพกระษัตรี กว่าสองร้อยปีที่แล้ว เพื่อสื่อว่า “เจ้ามฤตยูดำ” คือปัจจัยหนึ่งของชาวเหมืองท่มาพร้อมกับพ่อค้าและผู้รุกรานชาติตะวันตก
ส่วนนี้แสดงถึงความสำคัญของการทำเหมืองแร่และคนจีนที่มีต่อพัฒนาการของเมืองภูเก็ต พร้อมกับเกร็ดความรู้เรื่องการทำเหมืองแร่ในภูเก็ต
แร่ชนิดต่างๆ
ห้องนี้แสดงถึงลักษณะ แบบ และที่มาของการแต่งกายและเครื่องประดับของชาวบาบ๋าภูเก็ต

ห้องถัดไป ครูสุ่นปิ่น ที่มีชีวประวัติ คุณูปการและการอุทิศตนเป็นปูชนียบุคคลคนหนึ่งของโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
หนังสือเรียนในสมัยอดีต
ถึงจะเป็นอักษรจีน แต่ธงชาติไทยค่ะ
หนึ่งในเครื่องมือขุดแร่ที่มีความหมายความสำคัญต่อท้องถิ่น
โถงทางเดินเปิดโล่งพร้อมจุดบทบรรยายประกอบ
สวยงามและเปี่ยมไปด้วยแหล่งความรู้มากมายจริงๆ ค่ะ
ตัวอย่างชัดๆ อีกสักภาพค่ะ
ในปี 2482 อันเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูหนุ่มจากอยุธยาผู้หนึ่งชื่อว่า สุ่นปิ่น แซ่ซึง ถูกเชิญให้มาเป็นครูใหญ่อยู่ที่โรงเรียนส่องเต็ก ต่อมา เมื่อโรงเรียนส่องเต็กปิดตัวลงในปี 2484 ครูสุ่นปิ่นได้เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯอยู่ระยะหนึ่ง หลังสิ้นสุดสงคราม ปี 2489 โรงเรียนส่องเต็กและภูเก็ตฮัวบุ๋นได้รวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน ณ ที่ตั้งเดิมของภูเก็ตฮัวบุ๋นใช้ชื่อว่าโรงเรียนราษฎร์จุงหัว ท่านก็ได้รับเชิญกลับไปเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองของโลกมีผลกระทบต่อไทย โรงเรียนจุงหัวจำเป็นต้องพักการสอนลงอีกครั้ง ครูสอนภาษาจีนถูกเพ่งเล็งจากทางการ บ้างต้องอพยพหลบหนี แต่ความเป็นครูที่แท้ สุ่นปิ่นในวัยฉกรรจ์ได้ออกจากภูเก็ตไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเต้าหมิง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาราว 3 ปี
ในปี 2491 เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ปกติ คหบดีชาวจีนภูเก็ตได้ร่วมกันฟื้นฟูโรงเรียนที่มีอายุ 38 ปีนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น“โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว” เทียนประทีปแห่งความรู้ของเยาวชนชาวไทยจีนภูเก็ตดวงนี้ก็ค่อยๆ สว่างไสวขึ้นอีกครั้ง ด้วยเชื้อไฟครูใหญ่สุ่นปิ่นผู้หวนคืนมา
ส่วนนี้รวบรวมแผนที่ตั้งของอาคารเก่าในเขตเมืองเก่า
แบบจำลองอาคารบ้านเรือนและประโยชน์การใช้สอยพร้อมทั้งองค์ประกอบคัดสรรสวยงามพร้อมคำบรรยา
หนึ่งในประเพณี พิธีกรรมเพื่อความรู้และการสืบทอดของท้องถิ่น
รวมไปถึงประเพณีการตาย
วัฒนธรรมการกิน
วิธีการปรุงอาหารท้องถิ่นและอาหารจีน
ซึ่งในปัจจุบันยังคงหากินได้จากร้านอาหารท้องถิ่นในตัวเมืองภูเก็ต
รวมถึงความเป็นมาของอาหารการกินที่เกิดการผสมผสานกันระหว่างอาหารไทยรสจัดของท้องถิ่นใต้ อาหารของชาวมลายูเจ้าถิ่น อาหารผสมเครื่องเทศของชาวอินเดีย และอาหารของพี่น้องชาวจีน
สิ่งนี้ถูกใจพวกเรามาก ฮ่าๆ
เป็นแผนที่ๆ ทำได้ดีมากจริงๆ
อาหารการกินหลายอย่างที่หากินได้เฉพาะในภูเก็ต
ควรค่ากับรางวัลนี้จริงๆค่ะ
สุดท้ายกับภาพนี้ค่ะ ชอบเป็นการส่วนตัว
ในความมืดมิดย่อมมีแสงสว่าง ในความสว่างไสวย่อมมีมุมมืด ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้โดยลำพัง เราจงอยู่ด้วยความกตัญญูรู้คุณต่อผู้อื่น
หวังว่ารีวิวนี้คงเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ คงไม่หนักหนากันจนเกินไปที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาวภูเก็ตกันสักเสี้ยวนึง
ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ค่ะ แล้วเจอกันในรีวิวฉบับถัดไปเร็วๆนี้ค่ะ
A Day To Chill


fonte: @edisonmariotti #edisonmariotti https://adaytochill.wordpress.com/2012/09/12/พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว/